Svoboda | Graniru | BBC Russia | Golosameriki | Facebook
ข้ามไปเนื้อหา

อิทธิ พลางกูร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิทธิ พลางกูร
อิทธิ พลางกูร ในปี พ.ศ. 2547
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดเอกชัยวัฒน์ พลางกูร
รู้จักในชื่อกีตาร์บัลลาร์ด
เกิด30 มกราคม พ.ศ. 2498
อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
เสียชีวิต11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 (49 ปี)
โรงพยาบาลบางโพ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
แนวเพลงป็อป, คันทรีร็อก, ลูกทุ่ง, อคุสติก, บลูส์, โฟล์คป๊อป
อาชีพนักร้อง, นักดนตรี, นักแต่งเพลง, โปรดิวเซอร์เพลง,
เครื่องดนตรีกีตาร์, เปียโน
ช่วงปีพ.ศ. 2523 – 2547
ค่ายเพลงชัวร์ออดิโอ
(พ.ศ. 2523–2524)
ห้องอัดเสียงทอง
(พ.ศ. 2526–2528)
อาร์.เอส.โปรโมชั่น
(พ.ศ. 2530–2540, พ.ศ. 2547)
มิวสิก ออน เอิร์ธ (พ.ศ. 2540–2542)
คู่สมรสชาญดา ลียะวณิช
อดีตสมาชิกเดอะ เบลสส์

อิทธิ พลางกูร มีชื่อจริงว่า เอกชัยวัฒน์ พลางกูร (30 มกราคม พ.ศ. 2498 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547) เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์เพลงชาวไทย มีผลงานหลัก ๆ ในสังกัดอาร์เอส

ประวัติ

[แก้]

วัยเด็ก

[แก้]

อิทธิ พลางกูร เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2498 เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของศาสตราจารย์ นายแพทย์โอภาส และ แพทย์หญิงสุมาลย์ พลางกูร จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอนุปริญญาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่นเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือกลองก่อนจะหันมาเล่นกีตาร์ ซึ่งเพลงแรกที่หัดเล่นกีตาร์คือเพลง 500 Miles ของวง The Journeymen โดยได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากพี่ชาย

อิทธิฉายแววนักดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก และสามารถเล่นเพลงของจิมมี เฮนดริกซ์ และวง ครีม ซึ่งถือว่าเล่นยากมากได้ตั้งแต่อยู่ชั้นม.ต้น ต่อมาเมื่อเรียนม.ปลาย ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ตั้งวงดนตรีเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่าวง เดอะ สตรีม โดยได้ขึ้นแสดงเพลง Old Turkey Buzzard ของ Jose Faliciano ในงานของโรงเรียน ซึ่งเพลงดังกล่าวเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง McKenna's Gold หรือขุมทองแม็คเคนน่าที่โด่งดังมากในเมืองไทย นอกจากนี้ยังเล่นเพลงของเดอะ บีทเทิลส์ และวงครีม

หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย อิทธิย้ายกลับกรุงเทพ เพื่อเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้เข้าร่วมกับวง ดิ ออร์กาไนซ์เซชั่น เล่นเพลงแนวฮาร์ดร็อกของวงดีพ เพอร์เพิล, ยูไรอาห์ฮีป, แกรนด์ฟังก์เรลโรด

ก้าวเข้าสู่วงการเพลง

[แก้]

สมาชิกวงเดอะเบลสส์

[แก้]

อิทธิเข้าสู่วงการเพลงด้วยการเป็นสมาชิกวง "เดอะ เบลสส์" ซึ่งเป็นการออดิชั่นเพื่อหางานดนตรีเล่นประจำตามไนท์ คลับ มีสมาชิกยุคเริ่มแรกคือ สุรสีห์ อิทธิกุล ในตำแหน่งมือกีตาร์, สมชาย กฤษณะเศรณี ตำแหน่งมือเบส , โชด นานา มือกลอง และไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว(ปั่น) เป็นนักร้องนำ โดยอิทธิ พลางกูร รับหน้าที่เล่นกีตาร์ พร้อมทั้งได้ปรับเปลี่ยนสไตล์การเล่นให้เบาลงเพื่อให้สามารถเล่นกับโรงแรมหรูๆ ได้[1]

ต่อมาเมื่อ สุรสีห์, ไพบูลย์เกียรติ และ สมชาย ได้แยกตัวออกไป จึงเปลี่ยนสมาชิกในวงเป็น ธนิต เชิญพิพัฒธนสกุล ในตำแหน่งมือกลองและร้องนำ , วิวัฒน์ ไชยเจริญ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกวงแกรนด์เอ็กซ์ในยุคแรก มาเป็นสมาชิกในตำแหน่งเปียโน, นพดล กมลวรรณ อดีตสมาชิกวง เดอะ ฟ็อกซ์ มาเล่นในตำแหน่งคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์, สมบัติ พรหมมา อดีตนักดนตรีวงมุกดาพันธ์ ในตำแหน่งเครื่องเป่า , เกรียงไกร จิตตาโภคา ในตำแหน่ง กีตาร์เบส นอกจากนี้ยังได้ จารึก วิริยะกิจ หนึ่งในนักร้องที่ได้รับฉายาว่าเอลวิส เมืองไทย มาเป็นนักร้องหลักให้กับวง

วงเดอะ เบลสส์ ออกผลงานเพลงไทยชุดแรก เป็นอัลบั้มพิเศษ โดยเป็นการนำบทเพลงแนวโฟล์คซองคำเมือง จากอัลบั้ม โฟล์กซองคำเมือง อมตะ 1 และ 2 ของจรัล มโนเพ็ชร และเพลง คำวิงวอน โดยต้นฉบับของ สมบูรณ์ บุญโรจน์ มาทำดนตรีใหม่ในแนวเพลงดิสโก้ ชื่ออัลบั้ม คำเมืองดิสโก้ สังกัดค่ายชัวร์ออดิโอ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นยุคที่เพลงไทยกำลังเฟื่องฟู เดอะ เบลสส์ ได้ออกสตูดิโออัลบั้มที่เป็นผลงานของตัวเองชุดแรกในชื่อ หัวใจขายขาด สังกัดห้องอัดเสียงทอง ซึ่งมีอุกฤษฏ์ พลางกูร พี่ชายของอิทธิ เป็นผู้บริหารและควบคุมการบันทึกเสียงในขณะนั้น มีเพลงฮิตอย่าง หัวใจขายขาด ซึ่งเป็นเพลงเก่าของสุเทพคอรัส แนวร็อค แอนด์ โรล[2] ร้องโดย ธนิต และเพลง เมื่อใดฉันไร้รัก เพลงช้าที่โดดเด่นมาก จากการร้องของอิทธิ โดยอัลบั้มนี้ได้ สุรพล โทณะวณิก มาเขียนคำร้อง

ปีต่อมา เดอะ เบลสส์ได้ออกอัลบั้ม คืนเหงาใจ ซึ่งมีเพลงฮิตคือ อเมริกา และอิทธิ พลางกูร ได้ร้องนำในอัลบั้มนี้ 4 เพลง ได้แก่ คืนเหงาใจ , ลวง, เธอกับฉัน และ คืนแสงจันทร์ แต่อัลบั้มนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายมากนัก จากนั้นทางวงประสบปัญหาไม่มีที่เล่นดนตรีประจำและสมาชิกเกิดความเบื่อหน่าย จึงยุบวง เดอะ เบลสส์ ที่มีอายุรวม 8 ปี หลังจากยุบวง อิทธิไปเป็นหุ้นส่วนทำห้องอัด "แจม สตูดิโอ" กับพี่ชาย พร้อมกับทำงานเป็นซาวนด์ เอ็นจิเนียร์ และโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินต่างๆ มากมาย

ในนามศิลปินเดี่ยว

[แก้]

อิทธิ พลางกูรได้รับการชักชวนจาก สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ เฮียฮ้อ ให้ออกอัลบั้มชุดแรกในปี พ.ศ. 2531 ชื่อชุด "ให้มันแล้วไป" กับสังกัดอาร์.เอส.โปรโมชั่น กรุ๊ป และเพียงแค่อัลบั้มแรกก็ประสบความสำเร็จสุดขีด โดยถือเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของวงการเพลงไทยด้วยยอดขายกว่า 700,000 ตลับ โดยเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ ให้มันแล้วไป และ เก็บตะวัน ซึ่งแต่งโดย ธนพล อินทฤทธิ์ ซึ่งต่อมาเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงยอดนิยมมาตราบจนปัจจุบัน และเป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำตัวของอิทธิ โดยมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ได้ ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นผู้กำกับ ซึ่ง 2 เพลงดังกล่าวฮิตติดชาร์ตอันดับหนึ่งเกือบทุกสำนัก นอกจากจะประสบความสำเร็จทางยอดขายแล้ว มิวสิกวิดีโอเพลง เก็บตะวัน ก็ยังได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ชนะเลิศ สาขามิวสิกวิดีโอดีเด่น อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเพลงฮิตอื่นๆ เช่น ยังจำไว้ ซึ่งแต่งทำนองโดย ธนิต เชิญพิพัฒธนสกุล อดีตสมาชิก วงเดอะ เบลสส์ ที่มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์ร่วม [3][4] แต่น่าสังเกตว่าเพลงนี้มีทำนองและดนตรีเหมือนกับเพลง 何の矛盾もない (Nanno Mujun Monai) ของ Tsuyoshi Nagabuchi จากอัลบั้ม License ที่ออกมาก่อนหน้านั้นหนึ่งปีแทบทุกประการ[5][6]

ปี พ.ศ. 2532 อิทธิได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 กับทางอาร์.เอส. โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า ไปต่อไป โดยมีเพลง ไปต่อไป,กายช้ำ และ อย่าเอ่ยคำว่ารัก เป็นเพลงฮิตประจำคลื่นวิทยุ

ปี พ.ศ. 2533 ออกอัลบั้ม อิทธิ 3 เวลา และสร้างความฮือฮาด้วยการนำเทียรี่ เมฆวัฒนา จากวงคาราบาวมาร่วมงานด้วยในเพลง กาลเวลา และเพลงเราสามคน ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องข้ามปี โดยมิวสิกวิดีโอเพลงนี้โด่งดังอย่างมาก เพราะได้ดาราดังในยุคนั้นมาร่วมแสดงถึง 3 คน ได้แก่ ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย, วินิจ เลิศรัตนชัย และ เปิ้ล ปาริกา เทพสุขดี มาร่วมแสดง ก่อนที่ เปิ้ล จะมีผลงานเพลงในนามวงมะลิลา บราซิลเลี่ยน ในอีกระยะเวลาถัดมาไม่นานนัก

ปี พ.ศ. 2535 อิทธิออกอัลบั้มชุดที่ 4 ชื่อชุดว่า ป้ายแดง แม้ว่าจะห่างหายจากอัลบั้มที่แล้ว 2 ปี แต่ก็ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม และอัลบั้มนี้มีเพลงฮิตคือฟ้า...ดอกไม้และเธอ ,อย่าทนอีกเลย ซึ่งได้ริสา หงษ์หิรัญ และอรรถชัย อนันตเมฆ มาแสดงมิวสิกวิดีโอร่วมกัน ตลอดจนเพลง เข้าใจหน่อย (โอ๊ย) ที่ได้อุดม แต้พานิชมาเล่นเป็นพระเอกมิวสิกวิดีโอ และเพลง รอยร้าว ซึ่งเป็นเพลงฮิตที่ยังได้ยินอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายที่ทำการบันทึกเสียงที่ แจม สตูดิโอ เพราะทางต้นสังกัดอาร์เอสได้เปิดห้องอัดเสียงเองแล้ว

ปี พ.ศ. 2536 อิทธิ พลางกูร เข้าห้องอัดเสียงอาร์เอส เพื่อออกอัลบั้ม อิทธิ 5 กำลัง D โดยมีเพลงทรมาน เป็นเพลงที่ใช้โปรโมตอัลบั้ม และทำเป็นมิวสิกวิดีโอแสดงโดย พีท ทองเจือ และ จริยา แอนโฟเน่

ปี พ.ศ. 2538 อิทธิ มีอัลบั้มรวมฮิต รวมฮิต เก็บตะวัน โดยมีการเพิ่มเพลงใหม่คือ รู้นะ..คิดอะไรอยู่ โดยได้จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์เล่นเป็นพระเอกมิวสิกวิดีโอ ปีต่อมาได้ออกอัลบั้ม อิทธิ 6 ปกขาว มีเพลงที่ได้รับความนิยมคือ ปกขาว,น้ำในตา ที่ได้ ฉัตรชัย เปล่งพานิช มาเล่นเป็นพระเอกมิวสิกวิดีโอร่วมกับ กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา และ กรรชัย กำเนิดพลอย และได้ สร่างศัลย์ เรืองศรี หรือหนู มิเตอร์ มาช่วยเล่นกีตาร์ นอกจากนี้อิทธิยังทำงานเบื้องหลัง เป็นโปรดิวเซอร์ควบคุมการผลิตผลงานของศิลปินในสังกัดเดียวกันอีกหลายคน เช่น อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, เรนโบว์ (พีระพงษ์ พลชนะ) เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2540 อิทธิได้ออกอัลบั้มรวมฮิตชื่อว่า Heart Hits โดยเพิ่มเพลงใหม่เข้ามา 2 เพลงคือเพลง ฝันร้าย และเพลง ไม่ต้องขอบใจ ต่อมาในปีเดียวกันอิทธิได้ลาออกจากอาร์เอส มาตั้งค่ายเพลงของตัวเองชื่อ มิวสิก ออน เอิร์ธ โดยมี เอ็มจีเอ ดูแลด้านการตลาด พร้อมกับได้ออกอัลบั้มของตัวเองคู่กับเทียรี่ เมฆวัฒนา ในชื่อชุด ฮาร์ท แอนด์ โซล มีเพลงที่ได้รับความนิยม คือ ในกำมือ, ผัดฟัก... ฟักผัด, ฆ่าไม่ตาย, คนดีในชีวิต เป็นต้น และได้ออกอัลบั้มชุด อันปลั๊ก เชดส์ ออฟ เลิฟ โดยนำเพลงในอัลบั้มชุดก่อนๆ ของตนเองและเพลงสากลในอดีตเช่น Reflection Of My Life ของ Marmalade, Still In Love With You ของ Sherbet และ Angelina ของ Rosetta Stone มาขับร้องและทำดนตรีใหม่ในแนวอคูสติกซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จพอควร

ปีต่อมาทางค่ายได้ออกอัลบั้มรวมเพลงที่ร้องโดยศิลปินในค่ายออกมาในชื่อชุด แค่บอกลา/ใต้แสงจันทร์ โดยอิทธิ พลางกูร ร้องเพลงใหม่ 1 เพลง คือเพลง แค่บอกลา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และผลงานของศิลปินคนอื่นในค่ายที่ออกตามหลังมาก็ไม่ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องปิดค่ายไปในระยะเวลาต่อมาไม่นาน

ช่วงบั้นปลายชีวิต

[แก้]

ในกลางปี พ.ศ. 2545 อิทธิ พลางกูร ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังในสังคม เมื่อพบว่าเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ขั้นรุนแรงแล้ว โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวมาก่อน มารู้ตัวก็ต่อเมื่อวันหนึ่งเกิดเลือดไหลจากทวารหนักอย่างรุนแรงจนเจ้าตัวหมดสติ เพื่อนข้างห้องซึ่งอยู่อพาร์ตเมนต์เดียวกันเป็นผู้นำส่งโรงพยาบาล ซึ่งอิทธิได้เผยว่า ตนเองเป็นคนชอบรับประทานน้ำอัดลมกับไอศกรีมอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำอัดลมสามารถดื่มแทนน้ำได้เลยทีเดียว หลังจากผ่าตัดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2545 อิทธิก็มีร่างกายซูบผอมอย่างเห็นได้ชัด

ต่อมาทางอาร์.เอส.โปรโมชั่น ต้นสังกัดเก่าก็ได้ให้ความช่วยเหลือกับอิทธิและครอบครัว โดยการให้อิทธิ พลางกูรออกอัลบั้มอีกชุด ในชื่อชุดว่า เวลาที่เหลือ โดยมีเพลงที่ใช้โปรโมตคือเพลงสะดวกโยธิน และ เพลง เจ็บจะตาย และทำอัลบั้มชุดพิเศษที่รวมเอานักร้อง ศิลปินในค่ายมาร้องเพลงของอิทธิขึ้นมาใหม่ ในชื่อชุด "A Tribute To อิทธิ พลางกูร" และได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ขึ้นมาในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก ซึ่งอิทธิ ได้ขึ้นแสดงและร้อง 3 เพลง คือ เพลง กาลเวลา ร่วมกับเทียรี่ เมฆวัฒนา เพลง ไม่ธรรมดา ร่วมกับอุกฤษฎ์ พลางกูร พี่ชายของอิทธิเอง และเพลงสุดท้ายคือ ยังจำไว้ ที่อิทธิร้องเดี่ยวและสะกดผู้ชมทั้งงาน พร้อมกันนี้ภรรยาพร้อมลูก ๆ ก็ได้ขึ้นเวทีแสดงด้วย โดยเพลง ยังจำไว้ ถือเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตที่อิทธิ พลางกูร ร้องเดี่ยวต่อหน้าผู้ชม

การเสียชีวิต

[แก้]

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 อิทธิ พลางกูร ได้เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลบางโพโดยมีอาการไข้สูง และอ่อนเพลีย แพทย์พบว่าแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้กระจายไปตามกระแสเลือด และพิษจากแบคทีเรียทำให้การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว จากนั้นแพทย์ได้นำอิทธิเข้าห้องไอซียู แต่อิทธิก็ยังมีไข้ต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่วันที่ 9-10 พฤศจิกายน จนกระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 เวลา 9.00 น. ก็มีอาการทรุดหนัก หายใจไม่สะดวกจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งแพทย์ได้ช่วยปั๊มหัวใจจนชีพจรเต้นขึ้นมาอีกครั้ง ต่อมาเวลา 14.50 น. หัวใจก็ล้มเหลวและหยุดเต้นอีกซึ่งแพทย์ได้พบว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปในอวัยวะทุกส่วนแล้ว รวมถึงสมองด้วย จากนั้นแพทย์ก็ได้ช่วยปั๊มหัวใจอีกและใส่เครื่องหายใจช่วย แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ โดยอิทธิได้สิ้นลมหายใจเมื่อเวลา 16.00 น.[7]

งานศพของอิทธิทำการบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร มีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[8]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

อิทธิ พลางกูร สมรสกับ นางชาญดา ลียะวณิช มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน คือ ญาดา , เขมิกาวราลี และ ภริชญา พลางกูร

ผลงานเพลง

[แก้]

เดอะ เบลสส์

[แก้]
  • คำเมืองดิสโก้ (พ.ศ. 2524)
  • หัวใจขายขาด (พ.ศ. 2526)
  • คืนเหงาใจ (พ.ศ. 2527)

อัลบั้มเดี่ยว

[แก้]
  • ให้มันแล้วไป (กันยายน พ.ศ. 2531)
  • ไปต่อไป (พ.ศ. 2532)
  • อิทธิ 3 เวลา (กันยายน พ.ศ. 2533)
  • อิทธิ 4 ป้ายแดง (สิงหาคม พ.ศ. 2535)
  • อิทธิ 5 กำลัง D (ตุลาคม พ.ศ. 2536)
  • อิทธิ 6 ปกขาว (15 กรกฏาคม พ.ศ. 2539)
  • อันปลั๊ก เชดส์ ออฟ เลิฟ (พ.ศ. 2541)
  • อิทธิ & กีตาร์ไม้ (พ.ศ. 2542)
  • เวลาที่เหลือ (27 พฤษภาคม พ.ศ. 2547)

อัลบั้มรวมเพลง

[แก้]
  • องศาไฟ ( เพิ่มเพลง เมื่อใดฉันไร้รัก ) (เมษายน พ.ศ. 2534)
  • รวมฮิต เก็บตะวัน ( เพิ่มเพลง รู้นะคิดอะไรอยู่ ) (พ.ศ. 2538)
  • The best of อิทธิ (พ.ศ. 2539)
  • ฮาร์ท ฮิตส์ ( เพิ่ม ฝันร้าย และ ไม่ต้องขอบใจ ) (มกราคม พ.ศ. 2540)
  • Save hits อิทธิ (พ.ศ. 2540)
  • Big bonus อิทธิ (พ.ศ. 2541)
  • The best of อิทธิ (พ.ศ. 2544)
  • SUPERSTAR คาราโอเกะ อิทธิ พลางกูร (พ.ศ. 2544)
  • Double Best อิทธิ & หรั่ง (พ.ศ. 2545)
  • The Legend of อิทธิ (กรกฏาคม พ.ศ. 2547)
  • 25 Best of อิทธิ (มกราคม พ.ศ. 2549)
  • Exclusive Hits อิทธิ (มิถุนายน พ.ศ. 2551)
  • The Best Karaoke อิทธิ (พ.ศ. 2551)
  • Time Machine Project อิทธิ (กันยายน พ.ศ. 2552)
  • Best Collection อิทธิ (มีนาคม พ.ศ. 2554)
  • Rock legends อิทธิ (กันยายน พ.ศ. 2555)
  • Rock Heroes อิทธิ & หรั่ง (พ.ศ. 2556)
  • Classic อิทธิ (เมษายน พ.ศ. 2556)
  • Number 1 Hitz อิทธิ (พ.ศ. 2556)
  • Rock Masterpiece อิทธิ (มีนาคม พ.ศ. 2557)
  • King of Rock อิทธิ (มิถุนายน พ.ศ. 2558)


ศิลปินรับเชิญในอัลบั้ม

[แก้]
  • เล่นกีตาร์เบสในอัลบั้ม นกอิสระ ของ ฟรีเบิร์ดส (พ.ศ. 2529)
  • เล่นกีตาร์, เบส และ กลอง ในอัลบั้ม คนเล่นกล ของ คนด่านเกวียน (พ.ศ. 2529)
  • เรียบเรืยงดนตรี, เรียบเรืยงเสียงประสานในอัลบั้ม วันที่รอคอย ของ อ๊อด คีรีบูน (พ.ศ. 2530)
  • เล่นกีตาร์เบสในอัลบั้ม ไอ้โข่ง ของ คนด่านเกวียน (พ.ศ. 2530)
  • เรียบเรืยงดนตรีในอัลบั้ม รอบใหม่ ของ เรนโบว์ (พ.ศ. 2531)
  • เรียบเรืยงดนตรีในอัลบั้ม คนที่หวังดี ของ อ๊อด คีรีบูน (พ.ศ. 2531)
  • เรียบเรืยงดนตรีในอัลบั้ม ความทรงจำ หมายเลข 2 ของ เรนโบว์ (พ.ศ.2531)
  • เล่นกีตาร์ในอัลบั้ม ความหมายของผู้ชายคนหนึ่ง ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2532)
  • เล่นกีตาร์ในอัลบั้ม ภาพล่าสุด ของ อ๊อด คีรีบูน (พ.ศ. 2532)
  • ทำนองในอัลบั้ม เพื่อนคนเก่า ของ เรนโบว์ (พ.ศ. 2532)
  • โซโล่กีตาร์, คีย์บอร์ดในอัลบั้ม ลูกผู้ชาย ของ ฉัตรชัย เปล่งพานิช (พ.ศ. 2532)
  • เล่นกีตาร์ในอัลบั้ม เพลงพิสุทธิ์ ของ พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร (พ.ศ. 2533)
  • เล่นกีตาร์, คีย์บอร์ด และ เบส ในอัลบั้ม หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก ของ สรพงศ์ ชาตรี (พ.ศ. 2533)
  • เล่นกีตาร์, คีย์บอร์ด และ กลอง ในอัลบั้ม ความหมายที่ 2 เจตนายังเหมือนเดิม ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2533)
  • เรียบเรืยงดนตรีในเพลง ลองรัก, แอบชํ้า, น่ารัก, หลง ในอัลบั้ม ความหมายพิเศษ ความฝันมีชีวิต ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2533)
  • เล่นกีตาร์ในอัลบั้ม ลัดฟ้ามากับรุ้ง ของ เรนโบว์ (พ.ศ. 2533)
  • เล่นโซโล่กีตาร์ในเพลง บุบสลาย ในอัลบั้ม เขาพระวิหาร ของ อินโดจีน (พ.ศ. 2534)
  • เล่นกีตาร์, คีย์บอร์ด และ กลอง ในอัลบั้ม ความหมายที่ 3 เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2534)
  • เรียบเรืยงดนตรีในอัลบั้ม เมื่อความรักเดินทาง ของ เรนโบว์ (พ.ศ. 2534)
  • เรียบเรืยงดนตรีในอัลบั้ม อาชาครินต์ ของ อาชาครินต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2535)
  • เรียบเรืยงดนตรีในอัลบั้ม รักเธอไม่รู้จบ ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2537)
  • เล่นกีตาร์ในอัลบั้ม หัวใจร้องเพลง ของ แหม่ม พัชริดา (พ.ศ. 2537)
  • เรียบเรืยงดนตรีในเพลง ชื่นรัก ในอัลบั้ม ร็อคอำพัน ของ ร็อคอำพัน (พ.ศ. 2537)
  • เล่นกีตาร์ในอัลบั้ม อาร์เอส อันปลั๊ก ดนตรีนอกเวลา ของ รวมศิลปิน (พ.ศ. 2537)
  • เรียบเรืยงดนตรีในเพลง ห่วงใย ในอัลบั้ม เกิดอีกทีต้องมีเธอ ของ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง (พ.ศ. 2538)
  • เรียบเรืยงดนตรีในเพลง เพราะรัก, รักคือรัก, รักแท้ ในอัลบั้ม เกาะสวาท หาดสวรรค์ ของ เต๋า & นุ๊ก (พ.ศ. 2539)
  • เรียบเรืยงดนตรีในอัลบั้ม รักเธอตลอดเวลา ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2540)
  • แต่งคำร้อง ทำนอง, เรียบเรืยงดนตรี, บันทึกเสียงดนตรี, ออกแบบการร้องในอัลบั้ม จับแพะชนแกละ ของ นายแกละ (พ.ศ. 2543)

โปรดิวเซอร์

[แก้]
  • ความหมายของผู้ชายคนหนึ่ง ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2532)
  • คนไม่เคย ของ เฟม (พ.ศ. 2532)
  • เพื่อนคนเก่า ของ เรนโบว์ (พ.ศ. 2532)
  • ภาพล่าสุด ของ อ๊อด คีรีบูน (พ.ศ. 2532)
  • ลูกผู้ชาย ของ ฉัตรชัย เปล่งพานิช (พ.ศ. 2532)
  • ความหมายที่ 2 เจตนายังเหมือนเดิม ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2533)
  • ความหมายพิเศษ ความฝันมีชีวิต ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2533)
  • ความหมายที่ 3 เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2534)
  • อาชาครินต์ ของ อาชาครินต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2534)
  • ความหมายที่ 4 สงสัยใจสะเทิ้น ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2535)
  • ซึ้งก็สนแต่ขอซนก่อน ของ อาชาครินต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2535)
  • รักเธอเสมอใจ ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2536)
  • รักเธอไม่รู้จบ ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2537)
  • Touch V4 ของ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง (พ.ศ. 2538)
  • รักเธอตลอดเวลา ของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (พ.ศ. 2540)
  • จับแพะชนแกละ ของ นายแกละ (พ.ศ. 2543)

รางวัล

[แก้]
  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2531 มิวสิกวิดีโอดีเด่น จากเพลง เก็บตะวัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. อันเนื่องมาจาก...คืนเหงาใจ (กรุงเทพธุรกิจ Bizweek 26 พ.ย. 47)
  2. หัวใจขายขาด...One Broken Heart For Sale
  3. ผลงานเพลงค่ายRS[ลิงก์เสีย]
  4. "รับรางวัลวงการเพลง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-19. สืบค้นเมื่อ 2008-01-25.
  5. Tsuyoshi Nagabuchi
  6. มิวสิควิดีโอ Nanno Mujun Monai
  7. ลมหายใจสุดท้าย อิทธิ พลางกูร
  8. งานศพของอิทธิทำการบำเพ็ญกุศล