Svoboda | Graniru | BBC Russia | Golosameriki | Facebook
ข้ามไปเนื้อหา

สามก๊กจี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จดหมายเหตุสามก๊ก)
สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)  
ชิ้นส่วนชีวประวัติเปาจิดจากสามก๊กจี่ ส่วนหนึ่งของต้นฉบับตุนหฺวาง
ผู้ประพันธ์ตันซิ่ว (เฉิน โช่ว)
ชื่อเรื่องต้นฉบับ三國志
ประเทศจีน
ภาษาภาษาจีนโบราณ
วันที่พิมพ์ทศวรรษ 280 หรือ 290
สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม三國
อักษรจีนตัวย่อ三国
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามTam quốc chí
ฮ้าน-โนม三國志
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
삼국지
ฮันจา
三國志
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต三国志
คีวจิไต三國志
การถอดเสียง
โรมาจิSangokushi

สามก๊กจี่[1][2] หรือ จดหมายเหตุสามก๊ก ในภาษาจีนกลางเรียกว่า ซานกั๋วจื้อ (จีน: 三國志; พินอิน: Sānguó zhì) เป็นตำราประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการที่เขียนโดยตันซิ่ว (陳壽 เฉิน โช่ว) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 3 มีเนื้อหาครอบคลุมยุคสมัยช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น (ป. ค.ศ. 184 – ค.ศ. 220) และยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220–280) ที่ตามมา ถือเป็นตำราแหล่งข้อมูลซึ่งเชื่อถือได้เกี่ยวกับประวัตศาสตร์ในยุคสมัยดังกล่าว การรวบรวมสามก๊กจี่เกิดขึ้นหลังการรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของราชวงศ์จิ้น โดยบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง สังคม และการทหารภายในรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน 3 รัฐคือวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊กภายในตำราชุดกันที่จัดหมวดหมู่ตามชีวประวัติของแต่ละบุคคล

สามก๊กจี่เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิในการประพันธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก หรือ สามก๊กเอี้ยนหงี[2] (三國演義 ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนที่เขียนด้วยภาษาจีนสามัญ

จุดเริ่มต้นและโครงสร้าง

[แก้]

ฮั่นชูและสามก๊กจี่ร่วมกับฉื่อจี้ที่เป็นตำราประวัติศาสตร์ดั้งเดิมที่เขียนในยุคราชวงศ์ฮั่น รวมกันเป็นตำราสามชุดแรกในสารบบตำราประวัติศาสตร์จีนยี่สิบสี่ชุด แต่ละชุดผลงานได้เน้นย้ำถึงคุณภาพทางวรรณกรรมและประวัติศาสตร์นิพนธ์แนวใหม่ที่กำหนดโดยซือหม่า เชียน สามก๊กจี่ประกอบด้วยม้วนหนังสือ 65 ม้วนที่แบ่งเป็นภาคใหญ่ ๆ เป็น 3 ภาค ภาคละ 1 รัฐ รวมทั้งชุดประกอบด้วยอักษรจีนประมาณ 360,000 ตัว ภาควุยก๊ก (魏書 เว่ย์ชู) มี 30 ม้วน ภาคจ๊กก๊ก (蜀書 ฉู่ชู) มี 15 ม้วน และภาคง่อก๊ก (吳書 อู๋ชู) มี 20 ม้วน แต่ละม้วนหนังสืออยู่ในรูปแบบบทชีวประวติหนึ่งบทหรือมากกว่าหนึ่งบท

ตันซิ่วที่เป็นผู้เขียนสามก๊กจี่เกิดในบริเวณที่เป็นนครหนานชง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ซึ่งเวลานั้นอยู่ในรัฐจ๊กก๊ก หลังการพิชิตจ๊กก๊กของวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 ตันซิ่วได้กลายมาเป็นนักประวัติศาสตร์หลวงในราชสำนักของราชวงศ์จิ้น และเริ่มเขียนตำราประวัติศาสตร์เกี่ยวกับยุคสามก๊ก หลังการพิชิตง่อก๊กของจิ้นในปี ค.ศ. 280 งานเขียนของตันซิ่วก็ได้รับการยกย่องจากจาง หฺวา (張華) ผู้เป็นเสนาบดีอาวุโส

ก่อนยุคราชวงศ์จิ้น ทั้งรัฐวุยก๊กและง่อก๊กต่างก็ได้จัดทำตำราประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของตัวเองแล้ว ได้แก่ เว่ย์ชู (魏書) จัดทำโดยอองซิม (王沈 หวาง เฉิ่น) สฺวิน อี่ (荀顗) และรฺเหวี่ยน จี๋ (阮籍) และอู๋ชู (吳書) จัดทำโดยเหวย์ เจา (韋昭) หอกหยก (華覈 หฺวา เหอ) เซฺว อิ๋ง (薛瑩) โจว เจา (周昭) และเหลียง กว่าง (梁廣) นอกจากนี้ ยฺหวี ฮฺว่าน (魚豢) ยังได้รวบรวมตำราประวัติศาสตร์วุยก๊กเป็นการส่วนตัวชื่อว่าเว่ย์เลฺว่ (魏略) ตันซิ่วใช้ตำราเหล่านี้่เป็นพื้นฐานของสามก๊กจี่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐจ๊กก๊กไม่มีสำนักประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ภาคจ๊กก๊กในสามก๊กจี่จึงรวบรวมโดยตัวตันซิ่วเองโดยอิงจากบันทึกส่วนตัวของตนเองก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในจ๊กก๊กและแหล่งข้อมูลปฐมภูมิอื่น ๆ ที่เก็บรวบรวมไว้ เช่นงานเขียนของจูกัดเหลียงที่รวบรวมไว้ก่อนหน้านี้[3]

สามก๊กจี่ใช้ปี ค.ศ. 220 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ให้โจผี เป็นปีที่ราชวงศ์ของวุยก๊กก่อตั้งขึ้น สามก๊กจี่กล่าวถึงผู้ปกครองของวุยก๊กว่าเป็น "จักรพรรดิ" ส่วนผู้ปกครองของจ๊กก๊กและง่อก๊กเรียกว่า "เจ้านาย" หรือเรียกตามชื่อตัว

ช่วงเวลาของเนื้อหา

[แก้]

เนื่องจากสามก๊กจี่จัดให้มีรูปแบบชีวประวัติบุคคลมากกว่าจะเป็นบันทึกตามลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ การระบุช่วงเวลาของเนื้อหาทางประวัติศาสตร์จึงไม่ชัดเจนและไม่ได้รับความสำคัญ บางม้วนหนังสือให้ข้อมูลภูมิหลังเกี่ยวกับบรรพบรุษของบุคคลย้อนหลังไปหลายศตวรรษก่อนเนื้อหาหลัก ตัวอย่างเช่นบทชีวประวัติเล่าเอี๋ยนที่เริ่มด้วยการกล่าวถึงการที่บรรพบุรุษคือหลิว ยฺหวี (劉餘) ได้รับฐานันดรศักที่จิ้งหลิง (竟陵; ปัจจุบันคือนครเทียนเหมิน มณฑลหูเป่ย์) เมื่อประมาณ ค.ศ. 85[4] เหตุการณ์แรกได้รับการการอธิยายโดยละเอียดในสามก๊กจี่คือกบฏโพกผ้าเหลืองในปี ค.ศ. 184 บทชีวประวัติหลายบทกล่าวถึงเหตุการณ์นี้อย่างผ่าน ๆ แต่ก็ให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างเรื่องการติดต่อสื่อสารและการเคลื่อนกำลังพลในระหว่างเหตุการณ์การก่อกบฏพบได้ในรูปแบบที่ไม่ต่อเนื่องในอย่างน้อยสี่ม้วนหนังสือ ได้แก่ บทชีวประวัติเทียหยก,[5] อิกิ๋ม,[6] เล่าปี่,[7] และซุนเกี๋ยน[8]

สามภาคของสามก๊กจี่สิ้นสุดในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยส่วนหลักของภาควุยก๊ก (เว่ย์ชู) สิ้นสุดด้วยการสละราชบัลลังก์ของโจฮวนในปี ค.ศ. 265 ภาคจ๊กก๊ก (ฉู่ชู) สิ้นสุดด้วยการถึงแก่อสัญกรรมของเล่าเสี้ยนในปี ค.ศ. 271 และภาคง่อก๊ก (อู๋ชู) สิ้นสุดลงด้วยการถึงแก่อสัญกรรมของซุนโฮในปี ค.ศ. 284[9]

ตัวอย่างข้อคัดย่อหนึ่งที่แสดงลำดับเหตุการณ์มีดังนี้:

ในปีที่ 24 (ของศักราชเจี้ยนอัน) เจ้านายองค์แรกขึ้นเป็นอ๋องแห่งฮันต๋ง ตั้งให้ (กวน) อูเป็นขุนพลหน้า ในปีเดียวกัน (กวน) อูนำทหารเข้าโจมตีโจหยินที่อ้วน (เสีย) ท่านโจส่งอิกิ๋มไปช่วย (โจ) หยิน ในฤดูใบไม้ร่วง เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมฮั่นซุย (อิ) กิ๋มและทั้งเจ็ดทัพถูกน้ำท่วม[10]

เนื้อหา

[แก้]

อรรถาธิบาย

[แก้]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เผย์ ซงจือ (ค.ศ. 372–451) นักประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์หลิวซ่ง ได้เขียนอรรถาธิบายให้สามก๊กจี่ของตันซิ่วโดยใช้แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่หลากหลาย ขยายรายละเอียดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของสามก๊กจี่ต้นฉบับ งานเขียนอรรถาธิบายเสร็จในปี ค.ศ. 429 และกลายเป็นหนึ่งในตำราประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของยุคสามก๊กในชื่อว่าซานกั๋วจื้อจู้ (三国志注; จู้ มีความหมายว่า "หมายเหตุ") บันทึกบรรณานุกรมระบุว่าจนถึงยุคราชวงศ์หลิวซ่งที่เผย์ ซงจือมีชีวิตอยู่ สามภาคของสามก๊กจี่ของตันซิ่วได้รับการเผยแพร่ในฐานะงานเขียนเดี่ยว ๆ สำหรับแต่ละภาค มากกว่าจะเป็นงานเขียนชุดเดียวกัน[11]

เผย์ ซงจือรวบรวมบันทึกอื่น ๆ เพื่อเพิ่มข้อมูลที่ตนเห็นว่าควรเพิ่ม เผย์ ซงจือให้คำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์บางส่วนและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่กล่าวถึงในสามก๊กจี่ต้นฉบับ ทั้งยังรวมบันทึกหลายกระแสที่อธิบายถึงเหตุการณ์เดียวกัน บางครั้งบันทึกที่เผย์ ซงจือเพิ่มเข้าไปก็มีความขัดแย้งกันเอง แต่เผย์ ซงจือก็รวมไว้ด้วยกันทั้งหมดเพราะไม่สามารถตัดสินว่าบันทึกไหนถูกต้อง หากเผย์ ซงจือเพิ่มบันทึกใด ๆ ที่น่าจะไม่ถูกต้อง เผย์ ซงจือก็จะเขียนบันทึกหรือเสนอจุดที่ควรแก้ไข ในส่วนของเหตุการณ์และบุคคลในประวัติศาสตร์ เผย์ ซงจือยังได้เพิ่มความคิดเห็นของตนเอง เช่นเดียวกับที่ตันซิ่วทำในสามก๊กจี่ต้นฉบับ[12] ที่สำคัญคือเผย์ ซงจืออ้างอิงแหล่งข้อมูลในเกือบทุกกรณี

สิ่งตกทอด

[แก้]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("หนังสือสามก๊กไม่ใช่เปนพงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า “สามก๊กจี่” แปลว่าจดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก") "ตำนานหนังสือสามก๊ก: ๑ ว่าด้วยหนังสือสามก๊ก". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 2, 2024.
  2. 2.0 2.1 "สามก๊กจี่และสามก๊กเอี้ยนหงี". สืบค้นเมื่อ August 2, 2024.
  3. Records of the Three Kingdoms, pp. i–ii.
  4. สามก๊กจี่ เล่มที่ 31.
  5. สามก๊กจี่ เล่มที่ 14.
  6. สามก๊กจี่ เล่มที่ 17.
  7. สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  8. สามก๊กจี่ เล่มที่ 46.
  9. สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  10. (二十四年,先主為漢中王,拜羽為前將軍,假節鉞。是歲,羽率眾攻曹仁於樊。曹公遣于禁助仁。秋,大霖雨,漢水汎溢,禁所督七軍皆沒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  11. Records of the Three Kingdoms, p. ii.
  12. de Crespigny, Rafe (2004). "Chapter Nine: An Essay on the Sources for the History of Wu 170-230" (PDF). Generals of the South: The foundation and early history of the Three Kingdoms state of Wu (Internet ed.). Canberra: Faculty of Asian Studies, The Australian National University. p. 2. ISBN 978-0731509010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 October 2018. สืบค้นเมื่อ 10 October 2018.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Chen Shou (1977) [429]. Pei Songzhi (บ.ก.). Annotated Records of the Three Kingdoms 三國志注. Taipei: Dingwen Printing.
  • de Bary, WM. Theodore (2001), Sources of Japanese Tradition, Columbia University Press
  • Cutter, Robert Joe (2015). "San guo zhi" 三國志. ใน Chennault, Cynthia L.; Knapp, Keith N.; Berkowitz, Alan J.; Dien, Albert E. (บ.ก.). Early Medieval Chinese Texts: A Bibliographical Guide. Berkeley, CA: Institute of East Asian Studies, University of California, Berkeley. pp. 250–57. ISBN 978-1-55729-109-7.
  • Three Kingdoms: A Historical Novel. แปลโดย Roberts, Moss. University of California Press. 1991. ISBN 0-520-22503-1.
  • Zhang, Xiuping; และคณะ (1993). 100 Books That Influenced China: Sanguo Zhi (ภาษาจีน). Nanning: Guangxi People's Press. ISBN 9787219023396.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]