Svoboda | Graniru | BBC Russia | Golosameriki | Facebook
ข้ามไปเนื้อหา

รายชื่อแหล่งมรดกโลกในประเทศอินเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกของประเทศอินเดียทั้งสิ้น 42 รายการ[1] ประกอบด้วยมรดกโลกทางวัฒนธรรม 34 รายการ มรดกโลกทางธรรมชาติ 7 รายการ และมรดกโลกแบบผสมอีก 1 รายการ

ที่ตั้ง

[แก้]
รายชื่อแหล่งมรดกโลกในประเทศอินเดียตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย
รายชื่อแหล่งมรดกโลกในประเทศอินเดีย
รายชื่อแหล่งมรดกโลกในประเทศอินเดีย
ที่ตั้งของแหล่งมรดกโลกในประเทศอินเดีย

สถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

[แก้]

แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม

[แก้]
*หมายเหตุ: ระบุชื่อสถานที่ตามที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก
สถานที่ ภาพ ที่ตั้ง ประเภท พื้นที่
ha (acre)
ปี (พ.ศ./ค.ศ.) หมายเหตุ อ้างอิง
ป้อมอาครา รัฐอุตตรประเทศ วัฒนธรรม:
(iii)
2526/1983 ป้อมปราการขนาดใหญ่ในเมืองอาคราซึ่งสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพื่อเป็นที่ประทับของจักรพรรดิราชวงศ์โมกุลประกอบไปด้วยตำหนักต่างๆ และมัสยิดที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมเฉพาะที่ที่เกิดจากการผสมผสานจากสถาปัตยกรรมฮินดู อิสลาม ตุรกี เปอร์เซีย เรียกว่าสถาปัตยกรรมโมกุล [2]
ถ้ำอชันตา รัฐมหาราษฏระ วัฒนธรรม:
(i), (ii), (iii), (iv)
2526/1983 กลุ่มวัดถ้ำพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ก่อนจะต่อเติมอีกครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 6 ภายในถ้ำจำนวน 30 ถ้ำเต็มไปด้วยงานแกะสลักหิน เป็นองค์เจดีย์ เป็นพระพุทธรูป และภาพจิตรกรรมฝาผนังถ้ำ เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในพุทธประวัติและชาดก [3]
ถ้ำเอลโลรา รัฐมหาราษฏระ วัฒนธรรม:
(i), (iii), (vi)
2526/1983 หมู่ศาสนสถานที่สร้างเป็นวิหารเจาะหินเข้าไปในภูเขาจำนวนนับร้อย ประกอบด้วยงานศิลปะและโบราณสถานของศาสนาฮินดู, ศาสนาพุทธ และศาสนาไชนะ อายุราวปี 600–1,000 ปี สร้างขึ้นในจักรวรรดิราษฏรกูฏ (สำหรับวิหารพุทธและฮินดู) และจักรวรรดิยาทวะ (วิหารไชนะ) สนับสนุนการก่อสร้างโดยกษัตริย์ ขุนนาง และผู้ค้าขายที่มั่งคั่งในแต่ละยุคสมัย [4]
ทัชมาฮาล รัฐอุตตรประเทศ วัฒนธรรม:
(i)
2526/1983 อาคารฝังศพทำด้วยหินอ่อนสีขาวในเมืองอาครา สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยจักรพรรดิโมกุลนามว่าจักรพรรดิชาห์ชะฮันเพื่อตั้งศพของพระสนมเอก มุมตาช มหัล ตัวสุสานออกแบบสถาปัตยกรรมโมกุล ประกอบด้วยอาคารสุสาน มัสยิด เรือนรับรอง และสวนเปอร์เซีย [5]
กลุ่มโบราณสถานแห่งมหาพลิปุรัม รัฐทมิฬนาฑู วัฒนธรรม:
(i), (ii), (iii), (vi)
2527/1984 กลุ่มโบราณสถานที่สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึง 9 เป็นอดีตเมืองหลวงจักรวรรดิปัลลวะ ประกอบไปด้วยโบสถ์พราหมณ์ (โฆยิล) ทั้งวิหารที่เจาะเข้าไปในถ้ำและวิหารที่สร้างเป็นอาคาร รวมไปถึงงานแกะสลักหินอันงดงาม [6]
เทวาลัยพระอาทิตย์ โกณารัก รัฐโอฑิศา วัฒนธรรม:
(i), (iii), (vi)
2527/1984 มนเทียรบูชาพระสูรยะที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นอาคารสถาปัตยกรรมคาลิงกะตอนปลายที่ยังคงเหลือร่องรอยงานศิลปะ ประติมานวิทยา และการแกะสลักที่วิจิตรตระการตา [7]
โบสถ์และคอนแวนต์แห่งกัว กัว วัฒนธรรม:
(ii), (iv), (vi)
2529/1986 ภายในเขตอดีตเมืองหลวงรัฐอาณานิคมโปรตุเกสในอินเดียประกอบไปด้วยโบสถ์และคอนแวนต์ที่ถูกสร้างเพื่อเป็นแหล่งศึกษาศาสนาและศาสนสถานของคณะนักบวชคาทอลิกและชาวโปรตุเกสที่เข้ามาทำการค้าที่กัว ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมืองแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่คริสต์ศาสนาของดินแดนตะวันออก [8]
ฟเตหปุระสีกรี รัฐอุตตรประเทศ วัฒนธรรม:
(ii), (iii), (vi)
2529/1986 อดีตเมืองหลวงจักรวรรดิโมกุลระหว่างปี ค.ศ. 1571 ถึง 1585 ภายในตัวเมืองมีการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมโมกุลและวางผังเมือง ประกอบไปด้วยกำแพงเมืองรอบด้าน พระราชวัง ตำหนัก ฮาเร็ม ศาล มัสยิด และอาคารสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยได้อิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมเปอร์เซียและอาหรับ [9]
กลุ่มโบราณสถานแห่งฮัมปี รัฐกรณาฏกะ วัฒนธรรม:
(i), (iii), (iv)
2529/1986 อดีตเมืองหลวงจักรวรรดิวิชัยนคร ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมืองแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในเขตอินเดียตอนใต้ ประกอบไปด้วยป้อมปราการ, หมู่อาคารหลวงและศาสนสถาน, เทวาลัย, ศาล, หอที่มีเสา, มณฑป, อนุสาวรีย์, ตลาดรวมไปถึงระบบการจัดการน้ำที่ยังคงหลงเหลือในสภาพดี [10]
กลุ่มโบราณสถานแห่งขชุราโห รัฐมัธยประเทศ วัฒนธรรม:
(i), (iii)
2529/1986 กลุ่มมนเทียรจำนวน 25 แห่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพในศาสนาฮินดูกับศาสนาไชนะ มีความโดดเด่นในเรื่องการแกะสลักศิลปะเชิงกามารมณ์ที่เก่าแก่มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 11 รวมไปถึงการออกแบบศาสนสถานที่อิงตามความเชื่อของทั้งสองศาสนา [11]
ถ้ำเอลิแฟนตา รัฐมหาราษฏระ วัฒนธรรม:
(i), (iii)
2530/1987 หมู่ถ้ำที่เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะเป็นหลัก ภายในหมู่ถ้ำเป็นรูปปั้นแกะสลักเข้าไปในหิน ประกอบด้วยโบสถ์พราหมณ์ลัทธิไศวะ 5 แห่งที่มีการแกะสลักพระศิวะในรูปต่าง ๆ รวมไปถึงเทพปกรณัมในลัทธิไศวนิกาย [12]
มหาเทวสถานที่มีชีวิตแห่งโจฬะ รัฐทมิฬนาฑู วัฒนธรรม:
(ii), (iii)
2530/1987 เทวสถานฮินดูที่สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิโจฬะ หรือราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 12 ประกอบด้วย พฤหทีศวรมนเทียร (ตันชาวุร), คงไคโกนทะโจฬปุรัมมนเทียร และไอรวเตสวรมนเทียร [13]
กลุ่มโบราณสถานแห่งปัฏฏทกัล รัฐกรณาฏกะ วัฒนธรรม:
(iii), (iv)
2530/1987 หมู่เทวสถานในศาสนาฮินดูและไชนะสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และ 8 ช่วงราชวงศ์จาลุกยะด้วยสถาปัตยกรรมปทามี-จาลุกยะซึ่งพบเห็นมากในเขตลุ่มน้ำมาลประภา ถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ รวมถึงปรากฏลักษณะเทววิทยาและตำนานแบบลัทธิไวษณพและลัทธิศักติ [14]
กลุ่มพุทธสถานที่สาญจี รัฐมัธยประเทศ วัฒนธรรม:
(i), (ii), (iii), (iv), (vi)
2532/1989 สถูปหินซึ่งสร้างโดยคำสั่งของพระเจ้าอโศกมหาราชในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 หรือในสมัยราชวงศ์โมริยะ สร้างขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ รอบ ๆ สถูปมีการตกแต่งศิลปะอินเดียโบราณที่เป็นอิทธิพลในการก่อสร้างสถูปศาสนาพุทธในดินแดนต่าง ๆ [15]
หลุมฝังพระบรมศพของจักรพรรดิหุมายูง เดลี เดลี วัฒนธรรม:
(ii), (iv)
2536/1993 สุสานหลวงที่บรรจุพระบรมศพของจักรพรรดิหุมายูงแห่งจักรวรรดิโมกุล บุคคลผู้นำวัฒนธรรมเปอร์เซียเข้ามาเผยแพร่ในราชสำนักโมกุล ตัวสุสานถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมเปอร์เซียที่เน้นการวาดลวดลายเรขาคณิต และการออกแบบสวนเปอร์เซียรวมไปถึงกลุ่มสุสานขุนนาง โรงพักม้า และมัสยิด [16]
กุตุบมีนาร์และโบราณสถาน เดลี เดลี วัฒนธรรม:
(iv)
2536/1993 หมู่อนุสรณ์สถานและอาคารจากสมัยรัฐสุลต่านเดลีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ประกอบไปด้วยหออะษานกุตุบมีนาร์ มัสยิดกุบบัต-อุล-อิสลาม ประตูอาไลดาร์วาซา โรงเรียนสอนศาสนา หลุมฝังศพ ตำหนักฤดูร้อนของจักรพรรดิ และโลหะสตมภ์ [17]
ทางรถไฟสายภูเขาแห่งอินเดีย วัฒนธรรม:
(ii), (iv)
88.99 ha; พื้นที่กันชน 644.88 ha 2542/1999 กลุ่มเส้นทางรถไฟที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงที่อินเดียยังคงเป็นรัฐอาณานิคมของอังกฤษราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเป็นเส้นทางที่ปลายทางเป็นเมืองบนภูเขาสูงชันเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสำหรับการค้าขาย ประกอบด้วย 1. ทางรถไฟสายหิมาลัยดาร์จีลิง 2. ทางรถไฟสายกาลกา–ศิมลา และ 3. ทางรถไฟสายภูเขานีลคีรี [18]
กลุ่มวัดมหาโพธิที่พุทธคยา รัฐพิหาร วัฒนธรรม:
(i), (ii), (iii), (iv), (vi)
2545/2002 พุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลกในฐานะจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เมื่อ 2,500 ปีก่อน [19]
เพิงหินภีมเพฏกา รัฐมัธยประเทศ วัฒนธรรม:
(iii), (v)
2546/2003 ร่องรอยจิตรกรรมถ้ำซึ่งเป็นหลักฐานถึงการมีอยู่ของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียช่วงยุคพาเลโอลิธิกถึงเมโซลิธิก มีอายุราว 100,000 ถึง 10,000 ปี [20]
อุทยานโบราณคดีจัมปาเนร์-ปาวาครห์ รัฐคุชราต วัฒนธรรม:
(iii), (v), (v), (vi)
2547/2004 อดีตเมืองในช่วงจักรวรรดิจาวทา ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยราชาวันราช จาวทา ภายในเขตเมืองประกอบด้วยโบราณสถานที่มีตั้งแต่วัง, ประตูเมือง, ซุ้มประตู, สุสาน ที่อยู่อาศัย, สิ่งก่อสร้างเพื่อการเกษตร และสิ่งก่อสร้างทางชลประทาน เช่น ชลาคารกับเขื่อน ที่มีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึง 14 รวมไปถึงโบสถ์พราหมณ์และมัสยิดที่เปลี่ยนผ่านจากวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมฮินดูไปสู่วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมอิสลามในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 [21]
สถานีปลายทางฉัตรปติศิวาชี (สถานีปลายทางวิกตอเรียเดิม) รัฐมหาราษฏระ วัฒนธรรม:
(ii), (iv)
2547/2004 สถานีรถไฟปลายทางในนครมุมไบซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1878 และเสร็จในปี ค.ศ. 1887 ในปีที่สิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ออกแบบตัวอาคารด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนกอธิกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมอินเดีย สามารถรองรับรถไฟทั้งขบวนชานเมืองและขบวนทางไกล รวมไปถึงเป็นสำนักงานในการดูแลเครือข่ายเส้นทางรถไฟในเขตตอนกลางของประเทศ [22]
ป้อมแดง เดลี วัฒนธรรม:
(ii), (iii), (vi)
2550/2007 ป้อมปราการภายในเขตเมืองเก่าเดลี และยังเป็นที่ประทับของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลของเมืองหลวงแห่งใหม่หลังจากย้ายมาจากเมืองอาคราในศตวรรษที่ 17 ออกแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างโมกุลกับเปอร์เซีย ตัวป้อมล้อมรอบด้วยกำแพงสีแดงและประตูป้อมที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ภายในประกอบไปด้วยศาลา ตำหนัก โรงอาบน้ำ มัสยิด หอประชุมและปสาน [23]
ชันตรมันตระ ชัยปุระ รัฐราชสถาน วัฒนธรรม:
(iii), (vi)
2553/2010 แหล่งศึกษาค้นคว้าดาราศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยราชาราชปุต สไว ชัย สิงห์ ที่สอง ผู้ก่อตั้งนครชัยปุระ ประกอบไปด้วยกลุ่มหอคอยดูดาว ปฎิทินดวงดาว และนาฬิกาแดดอันเป็นหลักฐานการศึกษาทางด้านดาราศาสตร์และแนวความคิดจักรวาลวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 [24]
ป้อมเนินแห่งราชสถาน รัฐราชสถาน วัฒนธรรม:
(ii), (iii)
2556/2013 ป้อมปราการโบราณที่สร้างตามภูมิประเทศเขาของรัฐราชสถานในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึง 18 โดยกลุ่มราชปุตจากอาณาจักรต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. ป้อมจิตโตร์ 2. ป้อมกุมภาลครห์ 3. ป้อมรันตัมบอร์ 4. ป้อมคาโครน 5. ป้อมอาเมร์ และ 6. ป้อมไชสัลเมร์ [25]
รานี-กี-วาว (บ่อน้ำขั้นบันไดของพระราชินี) ที่ปาฏัณ รัฐคุชราต รัฐคุชราต วัฒนธรรม:
(i), (iv)
2557/2014 บ่อน้ำขั้นบันไดในรัฐคุชราตอันเป็นผลงานการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมมรู-คุรชรในสมัยจักรวรรดิจลุกยะ ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงกษัตริย์ภีมะที่หนึ่งโดยราชินีอุทยมตี ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 20 ปี ภายในบ่อน้ำมีการตกแต่งลายฉลุ รูปปั้นเหล่าเทพในศาสนาฮินดูและนางอัปสร [26]
แหล่งโบราณคดีนาลันทามหาวิหาร (มหาวิทยาลัยนาลันทา) ที่นาลันทา พิหาร รัฐพิหาร วัฒนธรรม:
(iv), (vi)
2559/2016 อดีตมหาวิทยาลัยทางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาในสมัยอาณาจักรมคธ และเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่า 800 ปี โดยเฉพาะในสมัยคุปตะหรือราวคริสต์ศตวรรษที่ 3-6 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคทองทางด้านวิชาการและศาสนา จึงมีการศึกษาหลากหลายแขนงในเขตนาลันทา ทั้งวรรณคดี พระไตรปิฎก ปรัชญา วิทยาศาสตร์ รวมไปถึงแนวคิดทางศาสนาฮินดู [27]
งานสถาปัตยกรรมของเลอกอร์บูซีเย คุณูปการอันโดดเด่นต่อขบวนการสมัยใหม่
(ร่วมกับญี่ปุ่น เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอาร์เจนตินา)
จัณฑีครห์ วัฒนธรรม:
(i) (ii) (vi)
2559/2016 สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนได้แก่ จัณฑีครห์แคปิตอลคอมเพลกซ์ ศูนย์ราชการที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่โดยเลอ กอร์บูซีเยในเมืองจัณฑีครห์ เมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเมืองหลวงของรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณา โดยมีวางผังเมืองและก่อสร้างสถานที่ราชการที่มีสถาปัตยกรรมแปลกตาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 อันเป็นช่วงที่อินเดียเพิ่งได้รับเอกราช ประกอบด้วยอาคารสภานิติบัญญัติ อาคารสำนักเลขาธิการ อาคารศาลสูง และกลุ่มอนุสาวรีย์ภายในศูนย์ราชการ [28]
นครประวัติศาสตร์อัห์มดาบาด รัฐคุชราต วัฒนธรรม:
(ii) (v)
535.7; พื้นที่กันชน 395 2560/2017 เมืองอะห์มดาบาดถือเป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และเคยเป็นเมืองหลวงของรัฐสุลต่านคุชราตจนถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก่อนจะกลายมาเป็นเมืองหลวงของรัฐคุชราตในปัจจุบัน ด้วยชัยภูมิของเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาพรมตี จึงมีการก่อสร้างป้อมปราการล้อมรอบเมืองประกอบด้วยประตูเมืองแปดประตูที่เป็นรูปแบบศิลปะอิสลาม ภายในตัวป้อมมีอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรม จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของเมืองแห่งนี้ [29]
กลุ่มอาคารกอทิกวิกตอเรียและอลังการศิลป์แห่งมุมไบ นครมุมไบ วัฒนธรรม:
(ii) (iv)
66.34; พื้นที่กันชน 378.78 2561/2018 ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคหลายแห่งในเมือมุมไบ โดยในบางอาคารมีการผสมผสานศิลปะอินเดียกับสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค ประกอบไปด้วยสถานที่ราชการ วิทยาลัย ธนาคาร พิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยมุมไบและฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช วัสตุสังครหาลัย ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ มีการออกแบบอาคารศิลปะแบบอาร์ตเดโคหลายแห่งในเมืองมุมไบ โดยเฉพาะบริเวณโอวัล ไมดานและมารีน่าไดร์ฟซึ่งเป็นย่านมั่งมีของเมืองมุมไบในตอนนั้น [30]
เมืองชัยปุระ ราชสถาน รัฐราชสถาน วัฒนธรรม:
(ii) (iv) (vi)
710; พื้นที่กันชน 2,205 2562/2019 ชัยปุระถือเป็นเมืองสำคัญของอินเดียในฐานะเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐราชสถาน ก่อตั้งโดยมหาราชาสวาอี ชัยสิงห์ที่ 2 ในปี ค.ศ. 1727 เมืองแห่งนี้มีการวางผังเมืองโดยทำถนนเป็นตารางแบบชัดเจนซึ่งแตกต่างจากเมืองอื่นๆ ในอนุทวีปอินเดียโดยใช้หลักการคณิตศาสตร์ รวมไปถึงการก่อสร้างพระราชวัง ถนน จัตุรัส กำแพงเมืองและประตูเมืองที่อิงตามตำราหลักสถาปัตยกรรมโบราณของอินเดีย [31]
กากติยารุทเรศวรมนเทียร (รามัปปามนเทียร) เตลังคานา รัฐเตลังคานา วัฒนธรรม:
(i) (iii)
5.93; พื้นที่กันชน 66.27 2564/2021 ศิวาลัยหรือเทวาลัยที่บูชาพระศิวะแห่งเดียวในอินเดียที่ใช้ชื่อผู้ออกแบบเทวาลัยแห่งนี้เป็นชื่อเทวาลัย ก่อสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยใช้หินทรายแดงก่อเป็นฐานและตัวอาคาร ส่วนเสาค้ำจุนตัวอาคารเทวาลัยเป็นหินบะซอลต์อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่ถูกแกะสลักลวดลายเป็นสัตว์ในเทพปรนัมและเหล่าสตรีที่กำลังร้องเล่นเต้นรำ นับเป็นผลงานสถาปัตยกรรมกัตติยะที่สมบูรณ์ที่สุดแม้จะผ่านภัยธรรมชาติและสงครามมาหลายครั้ง [32]
โธฬาวีรา นครอารยธรรมฮารัปปา รัฐคุชราต วัฒนธรรม:
(iii) (iv)
103; พื้นที่กันชน 4,865 2564/2021 หนึ่งในอดีตเมืองใหญ่หลายๆ เมืองในช่วงที่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุรุ่งเรือง ในปี ค.ศ.1968 มีการสำรวจทางโบราณคดีพบว่าอดีตเมืองแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ในช่วง 2,650 ปีก่อนคริสตกาลก่อนที่จำนวนประชากรจะลดลงและเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งในช่วง 1,450 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นหลักฐานชัดเจนในช่วงยุคสมัยสำริดของอินเดีย ภายในเขตโบราณสถานยังประกอบไปด้วยกำแพงเมืองล้อมรอบ สุสาน ระบบจัดการน้ำ และมีหลักฐานว่าอดีตเมืองแห่งนี้มีการติดต่อค้าขายกับเมืองอื่นๆ [33]
ศานตินิเกตัน รัฐเบงกอลตะวันตก วัฒนธรรม:
(iv) (vi)
36; พื้นที่กันชน 537.73 2566/2023 อาศรมที่ก่อตั้งโดยนักปราชญ์เทเวนทรนาถ ฐากุรในปี ค.ศ.1863 อันเป็นสถานพำนักของเขาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเดอะคริสตัลพาลิซในกรุงลอนดอน และกลายมาเป็นสถานศึกษาในอุดมคติเพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตและสังคมในเขตชนบทรัฐเบงกอลตะวันตกโดยพัฒนาจิตใจและสติปัญญาเพื่อให้เข้าใจวิถีโลกและพัฒนาสังคม ในปี ค.ศ.1951 รัฐบาลอินเดียได้ยกระดับพื้นที่ของศานตินิเกตันเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น [34]
กลุ่มปูชนียสถานของชาวโหยสฬะ รัฐกรณาฏกะ วัฒนธรรม:
(i), (ii), (iv)
10.47; พื้นที่กันชน 195.87 2566/2023 เทวาลัยรูปแบบสถาปัตยกรรมโหยสฬะของอินเดียตอนใต้ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมดราวิเดียนของอินเดียตอนเหนือ ซึ่งก่อสร้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 หรือราวยุคกลางของสมัยจักรวรรดิโหยสฬะ ประกอบด้วย 1) จันนเกศวเทวาลัย 2) โหยสเฬสวรเทวาลัย และ 3) เกศวเทวาลัย เพื่อประกอบพิธีบูชาพระวิษณุและพระศิวะในลัทธิไวษณพและลัทธิไศวะ [35]

แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ

[แก้]
*หมายเหตุ: ระบุชื่อสถานที่ตามที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก
สถานที่ ภาพ ที่ตั้ง ประเภท พื้นที่
ha (acre)
ปี (พ.ศ./ค.ศ.) หมายเหตุ อ้างอิง
อุทยานแห่งชาติกาซีรังคา รัฐอัสสัม ธรรมชาติ:
(ix), (x)
2528/1985 กาซีรังคาเป็นเขตอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำพรหมบุตร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแรดอินเดียที่มีจำนวนมากที่สุดในอินเดีย รวมไปถึงสัตว์หลากหลายชนิด เช่น เสือเบงกอล ควายป่า กวางบึง ช้างอินเดีย และพันธุ์นกอพยพทางตอนเหนือที่พบได้ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของอุทยาน [36]
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามานสะ รัฐอัสสัม ธรรมชาติ:
(vii), (ix), (x)
2528/1985 เขตอนุรักษ์ที่ตั้งริมฝั่งแม่น้ำมานสะอันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพตั้งแต่พื้นที่ลุ่มน้ำ ทุ่งหญ้า ป่ากึ่งป่าดิบ ป่าผลัดใบ จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย เช่น หมูป่าแคระ แรดอินเดีย ควายป่าเอเชีย นกฟลอริแคนเบงกอล เสือดาวอินเดีย รวมไปถึงพืชพันธุ์ที่พบได้ในเขตร้อนชื้น เช่น หว้า ชงโค กระโดน อินทนิล เพกา เป็นต้น [37]
อุทยานแห่งชาติเกวลาเทวะ รัฐราชสถาน ธรรมชาติ:
(x)
2528/1985 พื้นที่ชุ่มน้ำที่ในอดีตเคยเป็นแหล่งล่านกของเหล่ามหาราชา ก่อนจะถูกตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ในปี ค.ศ.1976 และตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติในปี ค.ศ.1982 เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งนกท้องถิ่น เช่น นกกาน้ำปากยาว นกปากห่าง นกกระทุง เป็ดคับแค และนกที่บินอพยพมาจากตอนเหนือในช่วงฤดูหนาว เช่น นกเป็ดน้ำยูเรเซียน ห่านหัวลาย นกกาน้ำใหญ่ นกกระเรียนไซบีเรียน รวมไปถึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าท้องถิ่นในรัฐราชสถาน [38]
อุทยานแห่งชาติสุนทรพน รัฐเบงกอลตะวันตก ธรรมชาติ:
(ix), (x)
2530/1987 พื้นที่อนุรักษ์อันเป็นป่าชายเลนบริเวณดินดอนปากแม่น้ำคงคาและแม่น้ำพรหมบุตร เป็นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดโดยมีต้นโกงกางมากกว่า 70 สายพันธุ์ และเป็นแหล่งอนุรักษ์ของเสือโคร่งเบงกอลที่ขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย รวมไปถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าทะเล โลมาน้ำจืด และนกหลากหลายสายพันธุ์ [39]
อุทยานแห่งชาตินันทาเทวีและพนมบุปผา รัฐอุตตราขัณฑ์ ธรรมชาติ:
(vii), (x)
2531/1988 พื้นที่โดยรอบของยอดเขานันทาเทวีซึ่งเป็นยอดเขาที่มีความสูงเป็นอันดับสองของอินเดียเป็นที่ตั้งของสองอุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วย 1) อุทยานแห่งชาตินันทาเทวี อันเป็นแหล่งอุดมไปด้วยภูเขาสูงชันในเขตเทือกเขาหิมาลัยและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าท้องถิ่น เช่น เสือดาวหิมะ ค่างหนุมาน หมีควาย และ 2) อุทยานแห่งชาติพนมบุปผา ที่มีความโดดเด่นทางภูมิประเทศที่มีความสวยงามและแหล่งรวบรวมสายพันธุ์พืชและไม้ดอกกว่า 500 สายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์พบได้เฉพาะในเขตอุทยานแห่งนี้เท่านั้น [40]
เทือกเขาฆาฏตะวันตก รัฐเกรละ กรณาฏกะ ทมิฬนาฑู และมหาราษฏระ ธรรมชาติ:
(ix) (x)
2555/2012 เทือกเขาขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของอินเดียที่เกิดขึ้นจากการยุบตัวของทวีปกอนด์วานาในช่วงปลายยุคจูแรสซิกจนถึงช่วงต้นยุคครีเทเชียส ถูกเรียกว่าเป็นผาใหญ่แห่งอินเดียที่พาดขนานไปกับชายฝั่งตะวันตกซึ่งติดกับทะเลอาหรับและที่ราบสูงเดกกัน พาดผ่านตั้งแต่รัฐคุชราต รัฐมหาราษฏระ รัฐกัว รัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ และรัฐทมิฬนาฑู เนื่องด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชันและป่าเขตร้อน จึงเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ป่าสงวนจำนวน 39 แห่งอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพืชพรรณนานาชนิด [41]
อุทยานแห่งชาติหิมาลัยใหญ่ รัฐหิมาจัลประเทศ ธรรมชาติ:
(vii), (x)
2557/2014 แหล่งอนุรักษ์อันประกอบไปด้วยทุ่งหญ้าทุนดราและป่าสนที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลระหว่าง 1,500-6,000 เมตร เป็นแหล่งรวบรวมพืชพรรณท้องถิ่นและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย ประกอบไปด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 31 ชนิด นก 181 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 3 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 9 ชนิด หนอนปล้อง 11 ชนิด หอย 17 ชนิด และแมลง 127 ชนิด [42]

แหล่งมรดกโลกแบบผสม

[แก้]
*หมายเหตุ: ระบุชื่อสถานที่ตามที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก
สถานที่ ภาพ ที่ตั้ง ประเภท พื้นที่
ha (acre)
ปี (พ.ศ./ค.ศ.) หมายเหตุ อ้างอิง
อุทยานแห่งชาติคังเชนเซิงงา รัฐสิกขิม ผสม:
(iii) (vi) (vii) (x)
2559/2016 อุทยานแห่งชาติคังเชนเซิงงาตั้งอยู่ในเขตบริเวณยอดเขาคังเชนเซิงงา หนึ่งในยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสามของโลกในเขตเทือกเขาหิมาลัยและเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อศาสนาพุทธทิเบต รวมไปถึงความเชื่อท้องถิ่นต่างๆ ของชนเผ่าเล็บซาและชนเผ่าลิมบูในรัฐสิกขิม ภายในตัวอุทยานยังคงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติไว้ ทั้งธารน้ำแข็ง ป่าเบญจพรรณเขตอบอุ่น และสัตว์หลากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ปีก เช่น ไก่ฟ้าสีเลือด แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย แร้งเครา นกกระทาทิเบต เป็นต้น [43]

สถานที่ที่ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น

[แก้]

ประเทศอินเดียมีสถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาเป็นมรดกโลกในอนาคตทั้งสิ้น 50 รายการ[1]


อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "World Heritage Properties in India". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2023.
  2. "Agra Fort". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  3. "Ajanta Caves". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  4. "Ellora Caves". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  5. "Taj Mahal". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  6. "Group of Monuments at Mahabalipuram". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  7. "Sun Temple, Konârak". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  8. "Churches and Convents of Goa". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  9. "Fatehpur Sikri". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  10. "Group of Monuments at Hampi". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  11. "Khajuraho Group of Monuments". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  12. "Elephanta Caves". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  13. "Great Living Chola Temples". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  14. "Group of Monuments at Pattadakal". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  15. "Buddhist Monuments at Sanchi". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  16. "Humayun's Tomb, Delhi". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  17. "Qutb Minar and its Monuments, Delhi". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  18. "Mountain Railways of India". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  19. "Mahabodhi Temple Complex at Bodh Gaya". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  20. "Rock Shelters of Bhimbetka". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  21. "Champaner-Pavagadh Archaeological Park". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  22. "Chhatrapati Shivaji Terminus (formerly Victoria Terminus)". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  23. "Red Fort Complex". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  24. "The Jantar Mantar, Jaipur". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  25. "Hill Forts of Rajasthan". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  26. "Rani-ki-Vav (the Queen's Stepwell) at Patan, Gujarat". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2015.
  27. "Archaeological Site of Nalanda Mahavihara (Nalanda University) at Nalanda, Bihar". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2016.
  28. "The Architectural Work of Le Corbusier, an Outstanding Contribution to the Modern Movement". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2016.
  29. "Historic City of Ahmadabad". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2017.
  30. "Victorian Gothic and Art Deco Ensembles of Mumbai". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2018.
  31. "Jaipur City, Rajasthan". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2019.
  32. "Kakatiya Rudreshwara (Ramappa) Temple, Telangana". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2021.
  33. "Dholavira: a Harappan City". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2021.
  34. "Santiniketan". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2023.
  35. "Sacred Ensembles of the Hoysalas". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2023.
  36. "Kaziranga National Park". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2015.
  37. "Manas Wildlife Sanctuary". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2015.
  38. "Keoladeo National Park". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2015.
  39. "Sundarbans National Park". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2015.
  40. "Nanda Devi and Valley of Flowers National Parks". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2015.
  41. "Western Ghats". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2015.
  42. "Great Himalayan National Park Conservation Area". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2015.
  43. "Kaziranga National Park". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2016.