Svoboda | Graniru | BBC Russia | Golosameriki | Facebook

ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยเผย ชาวยุโรปยุคโบราณมีปัญหาย่อยแลคโตสในนม


FILE - Milk cartons are displayed at an Asda supermarket in London, Aug. 17, 2015.
FILE - Milk cartons are displayed at an Asda supermarket in London, Aug. 17, 2015.

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ชาวยุโรปดื่มนมมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วก่อนที่พวกเขาจะพัฒนาความสามารถในการย่อยแลคโตสได้อย่างเต็มที่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

ผลการศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการย่อยแลคโตสในนมมักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในคนยุโรปยุคโบราณ โดยการศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่าความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บทำให้การแพ้แลคโตสนี้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งนี้ มนุษย์ในวัยเด็กก็เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อายุยังน้อยชนิดอื่น ๆ ที่ร่างกายผลิตเอนไซม์ที่เรียกว่า 'แลคเตส' ที่ใช้ย่อยสลายแลคโตส ยีนของแลคเตสมักจะหยุดทำงานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และนอกจากมนุษย์แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่โตเต็มวัยก็ไม่กินนมด้วย

มาร์ค โธมัส (Mark Thomas) นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University College London ซึ่งเป็นหัวหน้างานด้านพันธุศาสตร์สำหรับการศึกษาครั้งใหม่ กล่าวว่า หากไม่มีแลคเตสแล้ว แลคโตสจากนมก็จะป้อนจุลินทรีย์เข้าไปในลำไส้ทำให้เกิดแก๊ส ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางเดินอาหาร จนเกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง หรือมีการผายลมมากขึ้น

สำหรับคนสมัยโบราณที่ต้องทนทุกข์จากการเกิดโรคระบาดหรือความอดอยากแล้ว การท้องเสียจากการดื่มนมอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ราว 1 ใน 3 ของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้มีความผันแปรทางพันธุกรรมที่ทำให้ยีนแลคเตสของพวกเขาหยุดทำงาน เรื่องนี้วิวัฒนาการมาถึงบรรพบุรุษของมนุษย์ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในบางส่วนของแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และยุโรป

นักวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานไว้แล้วว่า ความสามารถในการย่อยแลคโตสนั้นมีวิวัฒนาการควบคู่ไปกับการที่ผู้คนทำฟาร์มโคนมกันมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นตลอดช่วงสองถึงสามพันปีโดยเริ่มต้นขึ้น 7000 ปีก่อนคริสตกาล

เพื่อค้นหาคำอธิบายในเรื่องนี้ นักวิจัยพยายามปะติดปะต่อประวัติศาสตร์การบริโภคนมในภูมิภาคนี้ในช่วง 9,000 ปีที่ผ่านมา โดยการตรวจสอบไขมันที่ตกค้างอยู่บนเศษเครื่องปั้นดินเผามากกว่า 7,000 ชิ้นที่เก็บรวบรวมได้ในแหล่งโบราณคดี 550 แห่งทั่วยุโรป

เมลานี ร็อฟเฟ็ต แซวค์ (Mélanie Roffet-Salque) ผู้ร่วมเขียนการศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัย Bristol กล่าวว่า ในขณะที่คนทำอาหาร ไขมันจะละลายตัวแล้วแทรกซึมเข้าไปตามรูพรุนของเครื่องปั้นดินเผา แต่หลายพันปีหลังจากนั้น เมื่อโบราณคดีขุดพบเครื่องปั้นดินเผาที่เคยถูกทิ้งไป แล้วนำมาวิเคราะห์ก็พบว่าไขมันยังคงอยู่ในเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้น

เศษเครื่องปั้นดินเผาแสดงให้เห็นว่า มีการบริโภคนมอย่างแพร่หลายไปทั่วยุโรปเป็นเวลาหลายพันปีก่อนที่ร่างกายของชาวยุโรปส่วนใหญ่จะสามารถย่อยแลคโตสได้

อย่างไรก็ตาม ความอดอยากอาจทำให้คนโบราณต้องดื่มนมมากกว่าปกติเนื่องจากแหล่งอาหารอื่น ๆ หมดลง และทั้งการขาดสารอาหารและโรคภัยไข้เจ็บอาจทำให้การท้องเสียจากการดื่มนมนั้นเป็นอันตรายอย่างมากได้

แต่จากการศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพของชาวอังกฤษยุคใหม่ นักวิจัยไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่าการดื่มนมเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใหญ่ยุคใหม่ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตแลคเตสได้อีกต่อไป

เชแวน วิลคิน (Shevan Wilkin) นักโบราณคดีชีวโมเลกุลจากมหาวิทยาลัยซูริก ผู้ตรวจสอบรายงานการศึกษาฉบับใหม่นี้ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นย่างก้าวที่สำคัญ ถึงกระนั้น เธอไม่เชื่อว่าปัจจัยด้านความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บเพียงอย่างเดียวจะสามารถอธิบายวิวัฒนาการของความสามารถในการย่อยแลคโตสในมนุษย์ยุคใหม่ได้เสมอไป

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG