Svoboda | Graniru | BBC Russia | Golosameriki | Facebook

ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กองกำลังกะเหรี่ยงเผย ความช่วยเหลือจากไทยชุดแรกถึงพื้นที่เป้าหมายแล้ว


ภาพการจัดส่งความช่วยเหลือในเขตพื้นที่ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เผยแพร่เป็นสาธารณะในเพจเฟซบุ๊ค Karen National Union เมื่อ 27 มีนาคม 2024
ภาพการจัดส่งความช่วยเหลือในเขตพื้นที่ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เผยแพร่เป็นสาธารณะในเพจเฟซบุ๊ค Karen National Union เมื่อ 27 มีนาคม 2024

กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) หนึ่งในคู่ขัดแย้งของรัฐบาลทหารเมียนมา ออกมาเปิดเผยในวันพุธว่า ได้รับและกระจายความช่วยเหลือจากทางการไทยให้ผู้อพยพในพื้นที่กองพลน้อยที่ 6 แล้ว โดยมีกองทัพไทยสังเกตการณ์

พะโด กะเล เซ โฆษก KNU ให้ข้อมูลกับวีโอเอภาคภาษาเมียนมาว่า ได้รับความช่วยเหลือผ่านการประสานงานกับสภากาชาดของไทย และถูกแจกจ่ายต่อไปยังหมู่บ้านสามแห่ง โดยหลังจากนี้มีแผนที่จะกระจายความช่วยเหลือจากฝั่งไทยผ่านองค์กรในพื้นที่และภาคประชาสังคม ที่มีประสบการณ์การทำงานในบริเวณดังกล่าวมายาวนาน

เมื่อ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ไทยจัดส่งปัจจัยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมชุดแรกเข้าไปในเมียนมาผ่านด่านแม่สอด-เมียวดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มของไทยภายใต้แผนระเบียงมนุษยธรรมของอาเซียน โดยส่งมอบให้กับประธานสภากาชาดเมียนมา สาขาจังหวัดเมียวดี

กระทรวงการต่างประเทศของไทยเผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวันพุธ ระบุว่าความช่วยเหลือได้เดินทางถึงหมู่บ้านนาบู หมู่บ้านไป้โจ่ง และหมู่บ้านตามันยะ ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นสามพื้นที่นำร่องอย่างปลอดภัย

ในวันเดียวกัน แถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊คของ KNU ระบุว่า สิ่งของถูกกระจายต่อไปยังผู้พลัดถิ่นจำนวน 20,000 คนในพื้นที่ดังกล่าว ผ่านการช่วยเหลือของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) โดยมีเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกของไทยร่วมสังเกตการณ์ที่หมู่บ้านนาบู ส่วนที่หมู่บ้านไป้โจงและตามันยะ เจ้าหน้าที่จากสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ตั้งจากการรัฐประหารเมื่อปี 2021 ได้ร่วมมือกับสภากาชาดเมียนมาในการนำส่งความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม พะโด กะเล เซ โฆษก KNU กล่าวว่ากองทัพเมียนมาได้โจมตีทางอากาศทันทีหลังจากได้รับปัจจัยความช่วยเหลือจากไทย โดย KNU และกองทัพเมียนมายังไม่มีการเจรจาหยุดยิงเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดส่งความช่วยเหลือแต่อย่างใด

วีโอเอไทยไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวจากแหล่งข่าวอิสระในพื้นที่ความขัดแย้ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทอม แอนดริวส์ ผู้รายงานพิเศษ องค์การสหประชาติ ให้ความเห็นว่า การส่งมอบความช่วยเหลือให้กับสภากาชาดเมียนมา ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลทหาร เสมือนเป็นการส่งความช่วยเหลือให้กับผู้เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากเช่นนี้

แอนดริวส์กล่าวด้วยว่า พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่งในขณะนี้ คือ “พื้นที่ขัดแย้งที่รัฐบาลทหารไม่มีอิทธิพลหรือการควบคุมเลย นั่นคือพิกัดที่พวกเราต้องให้ความสำคัญ”

KNU ระบุในแถลงการณ์ว่า สภากาชาดเมียนมา คือหน่วยงานที่ทำงานให้กับ SAC ซึ่งตั้งเป้าโจมตีชาวกะเหรียงอย่างจงใจ ดังนั้นการส่งความช่วยเหลือผ่านกลุ่มกาชาดดังกล่าวจึงสื่อถึง “การเพิกเฉย” ต่อความทุกข์ของประชาชนที่เคยเป็นเหยื่อความรุนเเรง

สหประชาชาติรายงานว่า มีประชาชนอย่างน้อย 2.6 ล้านคนต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ เนื่องจากการสู้รบที่เกิดขึ้น และประชากรกว่า 18 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือ

ปัจจุบัน พื้นที่จำนวนมากของเมียนมาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังต่อต้านรัฐบาล ทั้งที่เป็นกลุ่มนักรบผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธ์ุหลายกลุ่มที่ต่อสู้เพื่ออำนาจการปกครองในพื้นที่มาหลายทศวรรษ

  • รายงานข่าวโดย Aye Aye Mar
  • ข้อมูลเพิ่มเติมจากเอพี, กระทรวงการต่างประเทศไทย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG