Svoboda | Graniru | BBC Russia | Golosameriki | Facebook

ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์พบ “ตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์” หลายฝ่ายเตือนเรื่องจริยธรรม


Synthetic embryo-like structure made of three stem cells types in yellow, pink and green. (Credit: Zernicka-Goetz lab, University of Cambridge)
Synthetic embryo-like structure made of three stem cells types in yellow, pink and green. (Credit: Zernicka-Goetz lab, University of Cambridge)

นักวิทยาศาสตร์ด้านเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ จากสถาบัน Weizmann Institute of Science ในประเทศอิสราเอล ค้นพบวิธีสร้าง “ตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์” โดยที่ไม่ต้องใช้สเปิร์ม ไข่และการปฏิสนธิ ได้เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดีการที่จะนำเทคนิคดังกล่าวมาสร้างอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายให้กับมนุษย์ ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล

การค้นพบดังกล่าวถูกจัดว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ผลที่ได้รับยังไม่จัดว่าเป็นตัวอ่อนที่สมบูรณ์แบบ รวมถึงมีคำเตือนให้พิจารณาประเด็นจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ช่วงต้นเดือนสิงหาคม กล่าวว่า ทีมวิจัยค้นพบวิธีที่จะทำให้เซลล์ต้นกำเนิดของหนูรวมตัวกันจนมีโครงสร้างที่คล้ายตัวอ่อนได้

ในการทดลอง นักวิทยาศาสตร์จะเก็บเซลล์จากผิวหนังของหนู เพื่อนำไปผ่านกระบวนการย้อนกลับให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ และนำไปเก็บไว้ในตู้อบที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เลียนแบบกระบวนการตั้งครรภ์

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว เซลล์จะไม่สามารถรวมตัวกันได้สำเร็จ แต่นักวิจัยพบว่า การทดลองราว 50 ครั้ง จาก 10,000 ครั้ง หรือคิดเป็น 0.5% เซลล์จะมีการรวมตัวกันในลักษณะทรงกลมคล้ายกับโครงสร้างของตัวอ่อน

ปกติแล้วหนูจะตั้งท้องราว 20 วัน ซึ่งในการทดลอง หลังจาก 8 วันหรือเทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของการตั้งท้อง พบว่าตัวอ่อนมีสัญญาณของคลื่นสมองและการเต้นของหัวใจ ซึ่งคล้ายกับตัวอ่อนของหนูทั่วไปถึง 95%

ถ้าในอนาคต การเพาะอวัยวะของมนุษย์สามารถทำได้ในห้องทดลอง เทคนิคดังกล่าวจะสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องการการปลูกถ่ายอวัยวะได้หลายพันคนในแต่ละปี

จาคอบ ฮันนา นักวิทยาศาสตร์ด้านสเต็มเซลล์ ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของการวิจัยนี้ ได้กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ปัญหาใหญ่สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ คือผู้ป่วยต้องหาผู้บริจาคที่เข้าคู่กัน แต่มักพบว่าดีเอ็นเอไม่ตรงกับผู้ป่วย

ซึ่งในวันหนึ่งเขาเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์จะสามารถนำเทคนิคใหม่มาใช้งาน อย่างเช่น นำเซลล์จากตับของผู้ป่วย มาเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์ และนำกลับไปปลูกถ่ายยังผู้ป่วยรายเดิมได้ วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องค้นหาผู้บริจาคที่เข้าคู่กัน ไม่มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะปฏิเสธอวัยวะใหม่ และเซลล์ที่ได้จะมีดีเอ็นเอตรงกับผู้ป่วยอย่างแน่นอน

แม้ว่าตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์จะมีโครงสร้างที่ล้ำหน้าที่สุดเท่าที่เคยเพาะเลี้ยงมา แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเตือนว่า อย่าเรียกสิ่งนี้ว่า “ตัวอ่อน”

ลอเรนท์ เดวิด นักวิทยาศาสตร์ด้านสเต็มเซลล์ ชาวฝรั่งเศส ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ ให้ทัศนะว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวอ่อน (embryos) แต่อยากให้เรียกว่า เป็นกลุ่มเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายตัวอ่อน (embryoids)

เดวิดเสริมว่า การวิจัยนี้มีความน่าเชื่อถืออย่างมาก และน่าที่จะนำไปสู่การทดลองเพิ่มเติม จนทำให้เราเข้าใจอย่างแท้จริงว่าอวัยวะต่าง ๆ ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร

นอกเหนือจากการสร้างอวัยวะปลูกถ่ายแล้ว ฮันนาชี้ว่า กลุ่มเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายตัวอ่อนนี้ อาจจะสามารถต่อยอดสำหรับการพัฒนายารักษาโรค รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ อย่างเช่น การแท้งบุตร ภาวะมีบุตรยาก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และภาวะครรภ์เป็นพิษ

ฮันนาเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก จากเขตฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ และเขาต้องได้รับใบอนุญาตประเภทพิเศษ เพื่อที่จะเข้าไปทำงานในสถาบันที่อิสราเอล ที่ผ่านมา ฮันนาได้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Renewal Bio ที่มุ่งเน้นไปที่ การทดสอบความเป็นไปได้ในการใช้งานด้านการแพทย์สำหรับตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์ของมนุษย์ ซึ่งเขาเผยว่าการทดสอบดังกล่าวได้รับการอนุมัติตามหลักจริยธรรมในอิสราเอล รวมทั้งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึง สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ฮันนาบอกว่า เราควรจำไว้ว่า ตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์คือกลุ่มเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายตัวอ่อน และไม่ใช่ตัวอ่อนที่แท้จริง จึงไม่มีความสามารถที่จะมีชีวิต

อัลฟอนโซ มาร์ทิเนซ อาเรียส จากมหาวิทยาลัย Pompeu Fabra ในประเทศสเปน ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาการใช้เทคนิคดังกล่าวกับมนุษย์ เพราะการทดลองนี้เปิดประตูไปสู่การศึกษาเรื่องเซลล์ของมนุษย์ แต่เบื้องต้นมีกฎระเบียบมากมายที่จะต้องผ่านไปให้ได้ ซึ่งข้อมูลการทดลองที่เกี่ยวข้องกับระบบร่างกายมนุษย์ ยังถือว่ามีน้อยกว่าการทดลองที่ทำกับหนู

เป้าหมายที่จะพัฒนาให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับเซลล์ของมนุษย์ นำไปสู่การตั้งคำถามเชิงจริยธรรม เจมส์ บริสโค จากสถาบัน Francis Crick Institute ในสหราชอาณาจักร ชี้ว่าแม้ตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์สำหรับมนุษย์ยังเป็นเรื่องที่ไกลจากความเป็นจริง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ การมีส่วนร่วมในการอภิปรายในวงกว้าง ถึงผลกระทบทั้งด้านกฎหมายและด้านจริยธรรมของการทำวิจัย

  • ที่มา: เอเอฟพี
XS
SM
MD
LG